เด็กหลอดแก้ว
➡ เด็กหลอดแก้ว (IVF: In Vitro Fertilization) เป็นวิธีการทางเลือกที่ใช้รักษาภาวะมีบุตรยากแบบปฏิสนธิภายนอกร่างกาย ด้วยการนำไข่ของฝ่ายหญิงและอสุจิของฝ่ายชายไปผสมในภาชนะในห้องปฏิบัติการ เมื่อเกิดการปฏิสนธิแล้ว แพทย์จึงนำตัวอ่อน (Embryo) ใส่กลับเข้าไปให้ฝังตัวภายในมดลูกของฝ่ายหญิงจนเกิดการตั้งครรภ์
ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว 💡
สำหรับขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว อาจมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแต่ละคลินิกหรือสถานพยาบาลนั้นๆ แต่ก็สามารถสรุปเป็นขั้นตอนหลักๆ ได้ดังนี้
ควบคุมรอบเดือนให้ประจำเดือนมาปกติ จากนั้นแพทย์จะฉีดยากระตุ้นการตกไข่ ซึ่งต้องฉีดต่อเนื่องเป็นประจำประมาณ 10-12 วัน
ตรวจสอบความคืบหน้าของการกระตุ้นการตกไข่ และฉีดฮอร์โมนเข็มสุดท้ายก่อนเก็บไข่ประมาณ 34-38 ชั่วโมง
เก็บไข่ โดยแพทย์จะดูดไข่ออกจากช่องคลอด ใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที ซึ่งระหว่างนั้นแพทย์ก็จะให้ยาสลบหรือยาชาแก่ผู้ป่วย
แพทย์นำไข่และสเปิร์มที่ได้ไปทำการปฏิสนธิกันในห้องปฏิบัติการ พร้อมกับฉีดยาฮอร์โมนให้กับฝ่ายหญิงเพื่อเตรียมมดลูกให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์
เมื่อตัวอ่อนมีความแข็งแรงพอแล้ว แพทย์จะนัดเพื่อฉีดตัวอ่อนกลับเข้าไปในมดลูก เป็นอันเสร็จสมบูรณ์
ข้อจำกัดของการทำเด็กหลอดแก้ว
ผู้ที่มีมดลูกไม่แข็งแรงหรือมดลูกทำงานผิดปกติ จะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้
ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพร้ายแรงและจะเป็นอันตรายหากตั้งครรภ์
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
การทำเด็กหลอดแก้วอาจมีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นกับว่าที่คุณแม่หลังจากถ่ายฝากตัวอ่อนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีความเสี่ยงที่มักจะเกิดขึ้นมากที่สุดดังนี้
1.รังไข่บวม เนื่องจากได้รับฮอร์โมนกระตุ้นมากเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องอืด หายใจลำบากและอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องร่วงได้
2.ตั้งครรภ์นอกมดลูก เพราะไข่เข้าไปฝังตัวอยู่ในท่อนำไข่แทนที่จะเป็นมดลูก ซึ่งภาวะนี้เด็กจะไม่สามารถเจริญเติบโตได้ และต้องผ่าเอาเด็กออก
3.เกิดความเครียด เนื่องจากการทำเด็กหลอดแก้วส่งผลกระทบทั้งต่อร่างกายและจิตใจหลายอย่าง ต้องอาศัยกำลังใจจากคนรอบข้างและการบำบัดเป็นหลัก
4.ได้รับผลข้างเคียงจากยา ผู้ทำอาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาในขณะถ่ายฝากตัวอ่อน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดหัว กระสับกระส่าย ร้อนวูบวาบและอารมณ์แปรปรวนหงุดหงิดง่าย
5.เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด ซึ่งจะทำให้ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยมาก และอาจมีปัญหาเรื่องการหายใจ เพราะปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่
6.เสี่ยงภาวะแทรกซ้อน อาจมีภาวะแทรกซ้อนในขั้นตอนการเก็บไข่ เช่น การติดเชื้อ เกิดแผลในมดลูกและอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ได้
7.มีโอกาสตั้งครรภ์แฝด ซึ่งหากสุขภาพของคุณแม่ไม่แข็งแรง ก็อาจทำให้คลอดก่อนกำหนดหรือทารกมีน้ำหนักตัวน้อยได้ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีการถ่ายฝากตัวอ่อนมากกว่า 1 ตัว
การทำเด็กหลอดแก้ว เป็นนวัตกรรมที่มีความทันสมัย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่มีบุตรยากสามารถมีบุตรได้อย่างที่ต้องการ เพียงนำสเปิร์มของฝ่ายชายและเซลล์ไข่ของฝ่ายหญิงมาปฏิสนธิกันภายนอกร่างกาย ก่อนจะนำกลับเข้าไปในมดลูกของฝ่ายหญิงเพื่อการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติต่อไป แต่อย่างไรก็ตามการทำเด็กหลอดแก้วก็อาจเกิดความผิดพลาดและมีความเสี่ยงเช่นกัน ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ให้ดีก่อนทำ และทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเสมอ